ปัจจุบันคนไทยหันมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน มีทั้งการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีอาหารเสริมต่าง ๆ รวมถึง วิตามิน เป็นหนึ่งในอาหารเสริมแรก ๆ ที่คนทั่วไปนึกถึงในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หากร่างกายขาดวิตามินเมื่อไร อาจส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วย หรือเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
วิตามิน คือ
วิตามิน คือ สารอินทรีย์ที่มีความสำคัญและความจำเป็นต่อร่างกายของทุกคน โดยเป็นตัวช่วยในการทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเกิดความสมดุลขึ้น ซึ่งอยู่ในอาหารหลัก 5 หมู่ ตลอดจนเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีภายในร่างกาย ที่สำคัญคือร่างกายของเราไม่สามารถผลิตหรือสังเคราะห์วิตามินขึ้นได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหาร จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อ หรือการได้รับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้าไปเพื่อทดแทนวิตามินที่ร่างกายเราขาดไปได้
วิตามินเอ
วิตามิน (A) ช่วยในเรื่องบำรุงสายตา และช่วยรักษาโรคตามัวตอนกลางคืนด้วย ช่วยสร้างความต้านทานให้ระบบหายใจ ช่วยลดการอักเสบของสิว ลบจุดด่างดำ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แหล่งของวิตามินเอมักพบมากในเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม และเขียวเข้ม เช่น คะน้า ฟักทอง แครอท และไข่แดง
วิตามินบี
วิตามินบี (B) ช่วยในเรื่องของอาการเหน็บชา แผลที่เกิดในปาก และสรรพคุณอีกมากมายที่วิตามินบีช่วยรักษาได้ โดยแบ่งได้ ดังนี้
วิตามิน B1 (ไทอามีน)
เป็นวิตามินที่จะช่วยเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคเหน็บชา โลหิตจางหากขาดจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบินและช่วยเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้กับผู้ป่วยขาดสารอาหารที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักได้ พบในเนื้อหมู เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง รำข้าว อาหารจำพวกโปรตีน เช่น นม ไข่แดง ปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน ปริมาณที่ควรกิน 1 – 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B2 (ไรโบฟลาวิน)
ใครที่พบเจอกับปัญหาเล็บเปราะ หักง่าย หรือผมร่วงบ่อย ต้องบำรุงด้วยวิตามินบี 2 เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ เส้นผม เล็บ ช่วยให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรต ประโยชน์ต่อการทำงานของระบบประสาทตา ช่วยในการเผาผลาญไขมัน โดยหากร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้ อาจทำให้เป็นโรคปากนกกระจอกได้ สำหรับแหล่งที่พบวิตามินชนิดนี้ เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ ไข่ นม เครื่องในสัตว์ ตับ ผักใบเขียว โยเกิร์ต ชีส ปลา ข้าวโอ๊ต ถ้าขาดมากจะพบอาการท้องเสีย สมองเบลอ เกิดอาการขี้หลงขี้ลืมได้ ปริมาณที่ควรกิน : 1.3 – 1.6 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B3 (กรดนิโคติก หรือ ไนอะซิน)
ช่วยเผาพลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรต บำรุงผิวหนังและระบบประสาท มีความสำคัญในระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหาร และระบบไหลเวียนเลือด ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการท้องร่วง แต่ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น ปวดข้อ ร้อนวูบวาบ คันตามตัว พบได้ในอาหารประเภท ไข่ ปลา เนื้อไม่ติดมัน ไก่ ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง และอะโวคาโด ผลไม้จำพวกอินทผลัม ลูกพรุน มะเดื่อฝรั่ง ปริมาณที่ควรกิน : 14 – 16 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B5 (กรดแพนโทเทนิก)
วิตามินบี 5 ช่วยในการทำงานของระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหารและระบบหายใจ โดยหากขาดวิตามินชนิดนี้ อาจทำให้เป็นโรคความจำเสื่อม หรือมีอาการเชื่องช้า อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคเลือด โรคผิวหนัง และอาจเกิดแผลในลำไส้เล็กได้ พบได้ในอะโวคาโด ผลิตภัณฑ์จากนม และผักตระกูลกะหล่ำปลี เช่น บร็อคโคลี่ คะน้า ในธัญพืชไม่ขัดสี เช่น จมูกข้าวสาลี และถั่ว ปริมาณที่ควรกิน : 5 – 10 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B6 (ไพริด็อกซิน)
วิตามินบี 6 ช่วยบรรเทาอาการก่อนจะมีประจำเดือน แก้แพ้ท้อง บำรุงประสาท ลดอาการไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย และมีประโยชน์ต่อวัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์หรือ คุณแม่ที่ต้องให้นมบุตร นอกจากนี้ยังเป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ ป้องกันนิ่วในไต ช่วยให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หากขาดวิตามินบี 6 จะทำให้เป็นโรคโลหิตจาง แต่การกินมากเกินไปจะทำให้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มักพบในกะหล่ำปลี แครอท ผักโขม กล้วย ในธัญพืชไม่ขัดสี เช่น รำข้าว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง ถั่วเหลือง วอลนัต ไข่ ตับ ปลา แซลมอน กุ้ง ชีส ทูน่า ปริมาณที่ควรกิน : 1.3 – 2 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B7 (ไบโอติน)
วิตามินบี 7 จะเกี่ยวกับเรื่องผิวหนัง ไม่อยากดูแก่กว่าวัย ให้บำรุงด้วยวิตามินบี 7 เพราะช่วยป้องกันผมหงอก ผมร่วง ป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยในการเผาผลาญไขมันและโปรตีน แก้อาการซึมเศร้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย พบในธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีน และผลิตภัณฑ์จากนมส่วนใหญ่พบในดอกกะหล่ำ ถั่ว กล้วย ปลาแซลมอน ไข่ ตับ งา ถั่ว ผักโขม บรอกโคลี คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาดหอม ปริมาณที่ควรกิน : 100 – 300 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B9 (กรดโฟลิกหรือโฟเลต)
วิตามินบี 9 จำเป็นต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก เพราะสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ป้องกันการพิการในเด็กทารก แถมยังช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสุขภาพ แต่ถ้าหากกินเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ มักพบในผักใบเขียวเข้ม หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดาว ส้ม ถั่ว ไข่แดง ตับ ปริมาณที่ควรกิน : 180 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B12 (โคบาลามิน)
วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่มีความสำคัญเกี่ยวกับระบบประสาท เป็นวิตามินที่ช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงประสาท เพิ่มสมาธิและทำให้ความจำดี ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายดึงไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตไปใช้ สำหรับคนที่กินมังสวิรัติอาจจะทำให้ขาดโปรตีนชนิดนี้ได้ หากขาดจะเกิดอาการโลหิตจางได้ มีขนาดเม็ดเลือดแดงโตกว่าปกติ มีอยู่ในเนื้อสัตว์ นม ปลา ปริมาณที่ควรกิน 2.6 – 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน
วิตามิน B รวม
วิตามิน B รวม เป็นวิตามินบีสำหรับบำรุงร่างกายและระบบประสาท เป็นวิตามินที่ประกอบไปด้วยวิตามิน B มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป
วิตามินซี (C) ช่วยสังเคราะห์คอลลาเจน และดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ป้องกันการมีเลือดออกตามไรฟัน และยังช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น อาหารที่มีวิตามินซีสูงพบได้ใน บร็อคโคลี่ มันฝรั่ง พริกหวาน ผักโขม มะละกอ และผลไม้ที่รสชาติเปรี้ยว ได้แก่ ส้ม สับปะรด มะขาม สตอร์เบอร์รี่ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ
วิตามินดี
วิตามินดี (D) สามารถเจอได้ในแดดช่วงเช้า ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกระดูก สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับแสงแดด ร่างกายอาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอ ควรรับประทานอาหารประเภทธัญพืช เห็ด นม เนย ไข่แดงปลาทู และปลาแซลมอน โดยจะช่วยเก็บแคลเซียมเข้ากระดูก ป้องกันโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนได้
วิตามินอี
วิตามินอี (E) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญจะช่วยในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย การทำงานของระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ โดยพบในกลุ่มน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย อัลมอนด์ อะโวคาโด ถั่วต่างๆ เนยถั่ว งา และน้ำมันสำหรับปรุงอาหารทุกชนิด ปริมาณที่ควรได้รับไม่ควรเกิน 1,000 ไมโครกรัมต่อวัน
วิตามินเค
มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้นเวลาที่มีบาดแผลรุนแรง พบได้ในเนื้อสัตว์ ตับ ดอกกะหล่ำ บรอคโคลี ไข่แดงและถั่ว
ประเภทวิตามิน
เนื่องจากวิตามินมีหลากหลายชนิด สามารถแบ่งตามคุณสมบัติเป็น 2 กลุ่ม คือ
วิตามินที่ละลายในไขมัน
ได้แก่ วิตามินเอ (A) ดี (D) อี (E) และเค (K) สามารถละลายในไขมันหรือน้ำมันเท่านั้น เพื่อทำการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไม่สามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ หากได้รับมากเกินจะเก็บสะสมไว้ในร่างกาย
วิตามินที่ละลายในน้ำ
ได้แก่ วิตามินบี1 (B1) บี2 (B2) บี3 (B3) บี5 (B5) บี6 (B6) บี7 (B7) บี9 (B9) บี12 (B12) และวิตามินซี (C) จะอยู่ในร่างกาย 2 – 4 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจากการใช้งานจะถูกขับออกทางไตมากับปัสสาวะแทน โอกาสที่จะสะสมในร่างกายจึงมีน้อยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง
ใครบ้าง เสี่ยงขาดวิตามิน
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์
- ผู้ที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้
- ผู้ที่กินยาบางอย่างที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางอย่างลดลง
- ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายสูญเสียวิตามินอย่างรวดเร็ว เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก ๆ
วิตามินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็ไม่ดี ดังนั้นควรรับวิตามินให้เพียงพอต่อความต้องการ วิตามินสามารถรับได้ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกจะเน้นเป็นการบำรุงผิวแทน ส่วนภายในจะเน้นเป็นการกินอาหารที่ประโยชน์ หรือเป็นการฉีดวิตามินเพื่อให้เห็นผลลัพธ์เร็วขึ้น
สรุป
วิตามิน สารอินทรีย์ที่มีความสำคัญและความจำเป็นต่อร่างกายของทุกคน สรรพคุณสามารถเลือกกินได้ตามความต้องการของร่างกาย เพื่อไปเติมเต็มและซ่อมแซมให้ร่างกายกลับมาสุขภาพดีอีกครั้ง